วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บ้านเกิด


ต.ลาดงา อ.เสนาจ.พระนครศรีอยุธยา
คือบ้านเกิดของโมค่ะ เป็นบ้านไม้ พื้นยกสูงแบบมีใต้ถุน รูปทรงก็เหมือนกับบ้านไม้ตามชนบทของไทยทั่วๆ ไป มีเรือนทรงไทยอยู่ 1 เรือน หน้าบ้านเป็นคลองสายแม่น้ำน้อยขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็ก 
ภาพเปิดใบนี้โมถ่ายจากศาลาที่เป็นชานยื่นออกมาหน้าตัวบ้านค่ะ เ็ป็นบ้านที่ตั้งอยู่อีกฝั่งคลอง ก็เป็นคนรู้จักกัน หลายๆ ครั้งยังเคยตะโกนคุยกับลุงๆป้าๆ เขาข้ามฝั่งคลองเลย ^^







      ภาพตาข่ายที่มีปลาโดดไปมา คือแพยอค่ะ ในคลองสายนี้ยังมีแพยออยู่ตามหน้าบ้านหลายแพ ขนาดค่อนข้างใหญ่ ปลาที่ได้มาส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นอาหารในครัวเรือน อีกส่วนก็เอาไว้ขาย









บางคนเห็นภาพนี้อาจรู้สึกว่า ทำไมคลองถึงมีพักลอยเกลื่อนไปหมด ดูไม่ดี
ขอบอกว่าผักตบชวามีไม่เยอะเท่าไรค่ะ แต่ที่เห็นส่วนใหญ่เป็นผักบุ้ง ซึงทุกบ้านจะปลูกไว้หน้าบ้านด้วยประโยชน์หลายอย่าง ทั้งเก็บไว้ทำกับข้าวหลากหลายเมนู ไว้ขาย ไว้ดักปลา และยังใช้เป็นแนวแบ่งอาณาบริเวณอ่าวน้ำหน้าบ้านใครบ้านมันด้วย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่อยู่คู่กับคลองสายเล็กๆ เป็นวิถีชีวิตชาวบ้าน ต่างกับแม่น้ำใหญ่ที่ดูเว้งว้างโล่งไปหมด  คนกรุงหลายคนที่เคยพูดคุยด้วยและี่รู้จักสนิทสนมเป็นการส่วนตัวจะไม่รู้เรื่องนี้ พอเห็นผักลอยในน้ำก็เหมารวมว่าคนท้องถิ่นไร้ระเบียบ ไ่ม่ดูแลแม่น้ำ จึงต้องอธิบายทำความเข้าใจกันอยู่บ่อยครั้ง  





นี่คืออีกหนึ่งภาพ ซึ่งหากใครที่ไม่ใช่คนบ้านน้อกกกกกก บ้านนอกกกกก อย่างแท้จริง!! จะไม่มีทางรู้เลยว่าบรรดาขวดที่ลอยอยู่ในคลองนั้นมีประโยชน์ หาใช่ขยะ!!

แล้วทำไมถึงไม่ใช่ขยะล่ะ

ขวดเล่านี้คือทุ่นที่ใช้ผูกติดกับไม้ไผ่หรือเชือกกันเขตปากอ่าวหน้าบ้าน ใช้กันเศษผักต่างๆ ที่อาจลอยเข้ามา และยังใช้เป็นทุ่นผูกติดกับข่ายดักปลาซึ่งลงอยู่กลางหรือริมคลอง เพื่อให้คนที่สัญจรทางน้ำ เช่นคุณลุงท่านนี้รู้ว่า ตรงนี้มีข่ายอยู่นะ พายเรือเลี่ยงหน่อย จะได้ไม่ไปเกี่ยวกับตาข่ายดักปลาที่มีชาวบ้านคนอื่นลงไว้ 


 เจ้าของข่ายหาปลา



รายนี้สะดวกใช้เบ็ดตกปลามากกว่าลงข่าย




ใครเคยกินเมนูอาหารดอกโสน รับรองได้ว่าจะติดใจจนลืมไม่ลง ทั้งผัดน้ำมันดอกโสนจิ้มน้ำพริกกะปิ แกงส้มดอกโสน และที่โมโปรดปรานมากก็คือ ผัดพริกแกงดอกโสนใส่กุ้งฝอย กินจนไม่กลัวว่าจะอ้วนกลมมากไปกว่าเดิม 5555

**หมายเหตุ คนแก่ๆ แถวบ้านรวมทั้งแม่ของโมบอกว่า ต้นดอกโสนที่ขึ้นริมน้ำจะกินอร่อยกว่าที่ขึ้นตามพื้นดินบนฝั่งแห้งๆ เขาว่ากันมาแบบนี้อ่ะนะ






พ่อพายเรือไปส่งพี่สาวเพื่อขึ้นท่าน้ำอีกฝั่งคลอง
แต่ละบ้านจะมีเรือนไว้ใช้สอยค่ะ โดยมากจะมีคนละ 1-3 ลำ มีน้อยบ้านที่จะมี 4 ลำ ใช้กันตลอด ไม่ว่าจะน้ำน้อย หรือยามเข้าสู่ช่วงหน้าน้ำ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน - มกราคม ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นมาจนถึงบันไดขั้นที่ 4 นับจากด้านล่างขึ้นมา (ตามภาพซ้ายมือค่ะ) ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณน้ำที่ปกติของระแวกนี้ มากหน่อยก็แปะปูนขอบล่าง แต่เมื่อปี 54 เห็นบ้านหลังสีฟ้าไกลๆ นั้นไหมค่ะ แม่บอกว่าถึงขอบหน้าต่างล่าง







ส่วนบ้านโม พ่อเป็นช่างไม้ค่ะ เลยยกพื้นใต้ถุนสูงกว่าบ้านใกล้เคียงเล็กน้อย แต่น้ำก็ยังท่วมถึงพื้นบ้านอยู่ดี แต่แค่ครึ่งหน้าเข้ง ต่างกับบ้านอื่นที่น้ำถึงระดับต้นขา






                                                                                                                                             



ในภาพคือพ่อกับหลานชายค่ะ เรือลำเล็กเรียกเรือปาบค่ะ ลำใหญ่เรียกเรือเป็ด จุคนหุ่นมาตราฐานหญิงไทยได้ 8-10 คน โครงสร้างมั่นคงแข็งแรง ไม่โครงเครง ขึ้นลงง่าย ด้วยเหตุนี้ช่วงปี 54 พ่อจึงติดเครื่องยนต์เรือที่ด้านท้าย ใช้นี้วิ่งรับจ้างรับส่งคนไปส่งตลาดที่อยู่ห่างออกไปราว 10 กิโลเมตร เพราะช่วงนั้นแม้แต่รถทหารยังเข้าไม่ถึง ลูกค้าประจำเพียบ เพราะเรือลำใหญ่โครงสร้างแข็งแรงแบบนี้น้อยบ้านที่จะมี ผู้โดยสารมั่นใจเรียกใช้ประจำ รายได้วันหนึ่งเป็นพันบาท ได้ตังค์มาหลายหมื่นเลย (ลูกสาวตาวาว )








เคยมีนักถ่ายภาพนกท่านหนึ่งบอกกับโมว่า หากสภาพแวดล้อมพื้นที่ใดยังคงไว้ซึ่งธรรมชาติ ไม่ก่อมลพิษ จะมีนกหลากหลายสายพันธุ์มาอาศัยอยู่มากมาย  และนกเหล่านี้ก็เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้นที่โมเคยเห็นในระแวกบ้านเกิดของตัวเอง ทุกวันนี้กลับไปบ้าน แม้จะมีบางสิ่งเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่หลายอย่างก็ยังคงเดิม ธรรมชาติและอากาศสดชื่นที่สามารถสูดลมหายใจได้อย่างเต็มปอดยังคงมีให้เห็น หน้าบ้านคือคลองสายแม่น้ำน้อยที่ยังมีวิถีชีวิตแบบเดิมให้เห็น เช่นเดียวกับหลังบ้านที่เต็มไปด้วยทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา 

ว่าแล้วอาทิตย์นี้ขับรถกลับบ้านเอาเงินเดือนไปให้แม่ดีกว่า อิอิ










      

2 ความคิดเห็น: