วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

Composition องค์ประกอบภาพ


ก่อนจะเข้าเรื่อง โมต้องขอบอกไว้ก่อนว่าตนเองไม่ใช่กูรู ไม่ใช่อาจารย์สอนถ่ายภาพ ไม่ใช่ช่างภาพมือทองผลงานระดับเทพ เพียงแต่เป็นหนึ่งในผู้ที่มีความรักและสนใจในเรื่องการถ่ายภาพด้วยกล้อง DSLR และเำพียงอยากจะแบ่งปันความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่มีแก่ผู้คนที่อยู่ในแวดวงเดี๋ยวกัน ซึ่งความรู้นี้อาจเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านบทความนี้ค่ะ 

บทความนี้โมจะเขียนเน้นทฤษฎีเบื้องต้นของการถ่ายภาพ ในเรื่องของ Composition ซึ่งเป็นเพียง Guideline เล็กๆ  เพื่อให้นักถ่ายภาพมือใหม่ทั้งหลายได้นำไปศึกษาและปรับใช้ให้เหมาะสม เพราะหากเข้าใจถึงพื้นฐานเหล่านี้เป็นอย่างดี การพัฒนาในก้าวต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่อย่าได้หลงเข้าใจว่าทฤษฎีเหล่านี้คือกฎ ห้ามผิดแผกแหกคอกนะคะ เราทุกคนสามารถนำเสนอมุมมองหรือสิ่งแปลกใหม่ได้ เพราะสิ่งแปลกใหม่ที่ว่านี้ล้วนแล้วแต่เกิดมาจากการที่เรามีพื้นฐานที่ดี ดังนั้เราจึงต้องเรียนรู้ว่าอะไรเป็นอะไร จะได้นำไปปรับใช้และพัฒนาฝีมือของตัวเองต่อไป 

Composition = องค์ประกอบภาพ เรื่องพื้นฐานสุดๆ เกี่ยวกับการถ่ายภาพเลยค่ะ การจัดวางตำแหน่งหลักของภาพสามารถทำให้เกิดผลพวงทางความคิด ความรู้สึก ซึ่งหากวางในจุดที่เหมาะสม จะทำให้ภาพนั้นดูโดดเด่นสะดุดตา ซึ่งองค์ประกอบภาพที่ว่านี้มีหลายหลายรูปแบบให้ศึกษา แต่ที่โมจะขอหยิบยกมา บอกเหล่านั้น มีอยู่ 6 หัวข้อค่ะ 

1.ทฤษฎีสามส่วน 
หากมีเส้นใดๆ ก็ตามที่เริ่มจากด้านนึ่งยาวไปจนสุดอีกด้านหนึ่งของภาพ ให้พยายามจัดวางเส้นดังกล่าวนั้นไว้บนเส้นแบ่งตามรูปด้านล่างค่ะ 


ทฤษฎีสามส่วน 


โดยทั่วไปคนส่วนมากเวลายกกล้องขึ้นเพื่อถ่ายภาพ มักจะวางเส้นตัดเหล่านี้ไว้ตรงกลาง ทำให้เกิดความรู้สึกเมื่อยามมองว่าภาพนั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน หรือเหมือนถูกพับให้มาบรรจบประกบพอดีกัน ไม่ได้เน้นส่วนใดให้ชัดเจน ทำให้ภาพขาดความน่าสนใจ ทฤษฎีที่ว่านี้จึงถูกคิดค้นขึ้นเพื่อเป็นแนวทางว่าเราควรจะวางเจ้าเส้นตัดเหล่านั้นไว้ตรงส่วนไหน แล้งจึงจะทำให้ภาพดูสะดุดตาน่าสนใจ 

ตัวอย่างภาพที่ใช้ทฤษฎีสามส่วน 

      
เครดิตภาพ :  อาจารย์สิปกร  แย้มกสิกร 


ในภาพนี้ โมได้ตีเส้นขีดยาวสีขาวจากด้านซ้ายไปสุดไปจนถึงขวาสุด ซึ่งตรงนั้นคือเส้นขอบฟ้าเพื่อแบ่งให้เห็นได้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับทฤษฎีสามส่วน โดยภาพนี้ อาจารย์เจี๊ยบผู้เป็นเจ้าของภาพได้แบ่งพื้นที่น้ำทะเลเป็น 1:3 ของภาพทั้งหมด และให้อีก 2 ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ของท้องฟ้า  


เครดิตภาพ : http://iphone.thaibizcenter.com 


ภาพนี้แบ่งพื้นที่ด้านล่างซึ่งเป็นพื้นหญ้า 2 ส่วน ในขณะที่ท้องฟ้าถูกจัดให้มีพื้นที่ในภาพ 1 ส่วน 



แต่หากวางเส้นขอบภาพไว้กลางภาพล่ะ 

นี่ไงค่ะ ลองถามตัวเองดูสิว่าเมื่อเรามองภาพนี้แล้ว รู้สึกอย่างไร 


ในการถ่ายภาพเส้นที่มีลักษณะลากยาวตัดผ่านภาพเช่นนี้คงระวังเรื่องสมดุลให้ดีนะคะ อย่าให้เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ดังเช่นภาพนี้ 

เรื่องทฤษฎีสามส่วนผ่าน แต่วางเส้นขอบฟ้าไม่ตรง ทำให้ภาพขาดสมดุล เอียงอย่างไม่มีเหตุผล      
เอียงอย่างสมควรถูกตำหนิ 




2. จุดตัดเก้าช่อง 
เมื่อผ่านทฤษฎีสามส่วนมาแล้ว ทีนี้เราจะมาลากเส้นอีก 2 เส้นเป็นแนวตั้งตัดผ่านเส้นแนวนอน ซึ่งจะทำให้แบ่งพื้นที่ภาพออกเป็น 9 ช่อง โดยมีจุดตัดของเส้นทั้งหมด 4 จุด ตำแหน่งเหล่านี้เหมาะสมสำหรับการวางวัตถุหรือแบบเพื่อเน้นให้เป็นจุดเด่นจุดหลัก ไม่ใช่แต่เพียงวางอยู่ตรงกลางซึ่งจะทำให้ภาพดูน่าเบื่อ ซ้ำซาก อีกทั้งนอกเหนือจากตำแหน่งจุดตั้งทั้ง 4 แล้ว ยังมีพื้นที่เหลือไว้เพื่อไม่ให้ภาพรู้สึกอึดอัดเวลามองภาพ และยังช่วยบอกรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับภาพได้อีกด้วย 


จุดตัดเก้าช่อง 




ตัวอย่างภาพที่วางจุดหลักไว้ในตำแหน่งจุดตัดเก้าช่อง 











3. เส้นนำสายตา 
เส้นนำสายตามีหลายลักษณะค่ะ ทั้งเส้นตรง โค้ง เป็นรูปตัวเอส เป็นการสร้างมิติและสามารถบอกลักษณะโครงสร้างของภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนที่นำสายตาไปยังจุดเด่นหรือจุดสนใจของภาพนั้นๆ และอาจเชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆ ในภาพได้ด้วย 
ตัวอย่าง 







ข้อควรระวังเกี่ยวกับนำเส้นสายตามาใช้เป็นการจัดองค์ประกอบภาพ คืออย่าให้มีวัตถุหรือฉากหน้าที่เป็นส่วนเกินดึงสายตาไปจากจุดหลักของภาพ เพราะจะทำให้การมองภาพสะดุดลงที่วัตถุนั้น ขาดเอกภาพเส้นที่เราวางไว้เพื่อไปยังจุดหลักจะกลายเป็นองค์ประกอบรองไม่โดดเด่น  

                    ตัวอย่าง


   

                                       เครดิตภาพ :  http://psu-photo.blogspot.com/2010/02/4930211011-se4.html 


จากภาพซ้ายคือต้นฉบับ ซึ่งมีเสาเป็นส่วนเกิน ทำให้สะดุดตาเมื่อมองภาพก่อนจะไปถึงยังจุดเด่นที่วางเอาไว้ ในขณะที่ภาพทางขวา โมครอปภาพเพื่อตัดเอาส่วนเกินที่เป็นเสาออกไป  ทำให้ไม่มีส่วนเกินออกมาสะดุดตา ดังนั้นเวลาจะถ่ยภาพด้วยทฤษฎีไหนก็แล้วแต่ขอให้คิดและสังเกตุสิ่งรอบตัวกันก่อนสักนิดนะคะ เพื่อภาพที่สวยงามยิ่งขึ้น 





4. กรอบภาพ 
เป็นการนำวัสดุต่างๆ มาจัดวางให้ฉากหน้า หรือเป็นส่วนประกอบล้อมจุดเด่นเพื่อทำให้ภาพดูมีมิติ มีความลึก หรือทำให้สายตาพุ่งสู่จุดสนใจ หรือเพื่อลดพื้นที่ว่าง ทำให้ภาพกระชับขึ้น 


ตัวอย่าง  






5. ลวดลาย ( Pattern ) 
เป็นการนำเสนอลักษณะ รูปทรง หรือเส้นที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน วางเป็นกลุ่มเพื่อเป็นรูบแบบที่ซ้ำซ้อน 


ตัวอย่าง 


เครดิตภาพ : http://www.picturecorrect.com 




6. แสง เงา 
นี่คือหัวข้อที่จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก นั่นเพราะเราต้องเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเทคนิคการวัดแสง พออ่านถึงตรงนี้บางคนถึงกับร้องอี๊!! ทำหน้ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะเรื่องการวัดแสงนั้นต้องอาศัยการศึกษาและทำความเข้าใจอย่างละเอียด สิ่งที่ถูกหยิบยกมาทุกครั้งที่พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้คือเจ้ากระดาษวิเศษสีเทากลาง!!  โดยเราจะนำสีเทากลางนี้ไปเทียบกับสีต่างๆในธรรมชาติว่าควรจะชดเชยแสงเท่าไร สี แสง เงาที่ออกมาจึงจะถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยนและตรงตามที่เราต้องการ ซึ่งจะสัมพันธ์กับการตั้งค่า F  สปีดชัตเตอร์ และค่า ISO (เยอะไหมล่ะ) ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องเทคนิคการวัดแสงนี้ เรียนกันตามตรงว่าโมเองก็ยังคบไม่ค่อยจะแตก ขี้เกียจและปวดหัวในการจดจำว่าสีนั้นสีนี้ต้องชดเชยไปทางโอเวอร์หรืออันเดอร์ ต้องไปกี่สตอป เลยตัดไปหาใช้โหมด M มันทั้งชีวิตซะเลย ( ฮ่าาาาา ) 
แต่สำหรับบางท่านการหลีกเลี่ยงมาใช้โหมด M กลับทำให้ประสบกับชะตากรรมอันเลวร้ายหนักกว่าเดิม นั่นเพราะโหมด M เราต้องปรับตั้งค่ากล้องเองทุกอย่าง ดังนั้นไม่ว่าคุณจะพยายามหลีกเลี่ยงอย่างไรก็ตาม การเรียนรู้เรื่องเทคนิคการวัดแสงจึงถือเป็นหัวใจหลักสำหรับการถ่ายภาพ เพราะถึงแม้คุณจะจัดองค์ประกอบภาพได้ดีเยี่ยมมากแค่ไหน แต่ภาพที่ออกมามันมืดจนมองไม่เห็น สว่างจ้าจนบอกรายละเอียดไม่ได้ หรือสีตุ่นขมุกขมัวไม่ใสคม อันเกิดจากไม่เข้าใจ ไม่ยอมเรียนรู้เกี่ยวกับการวัดแสงหรือเกี่ยวกับเรื่องการควบคุมกล้อง ก็ยังคงต้องงงเป็นไก่ตาแตกต่อไปไม่สิ้นสุดสักที 
เอาล่ะ เรามาโยนเรื่องการวัดแสงทิ้งไปก่อนและกลับมาพูดถึงเรื่องการจัดองค์ประกอบภาพในหัวข้อ แสงและเงากัน 
แสงและเงาจะทำให้เกิดน้ำหนัก ( Tone ) ของภาพ เพราะเจ้าแสงและเงานี้เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ภาพดูมีมิติ มีรูปทรงที่ชัดเจน เป็นตัวนำสายตาและเป็นสิ่งที่ทำให้แบบหรือวัตถุนั้นเด่นขึ้น ซึ่งน้ำหนักของสีจะสามารถแบ่งออกได้อีก 2 หัวข้อย่้อย อย่างแรกเรียกว่าภาพ High key ซึ่งให้ความรู้สึกอ่อนหวานนุ่มนวลอ่อนหวาน เพราะโทนสีแสงออกไปทางสว่างมากกว่าส่วนมืด ในขขณะที่ภาพ Low key ลักษณะส่วนใหญ่ในภาพจะมีสีเข้ม มีเงามืด ให้ความรู้สึกเข้มแข็ง ลึกลับ 

ตัวอย่าง ภาพ High key  
        







ตัวอย่าง ภาพ Low key  






ตัวอย่างเกี่ยวกับแสง เงา 








เครดิตภาพ : mthai.com 



เครดิตภาพ : blog.burrard-lucas.com 



ทั้ง 6 หัวข้อเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของแนวทางการจัดองค์ประกอบภาพซึ่งยังมีอยู่อีกหลายกหลายรูปแบบ และถือเป็นพื้นฐานสำคัญ โดยหัวข้อที่โมเลือกมานั้นถือว่าค่อนข้างง่ายสำหรับมือใหม่ จะมีเพียงเรื่องแสงและเงาที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคการวัดแสง และการศึกษาเรื่องการตั้งค่าอุปกรณ์กล้อง DSLR อย่างที่โมเกริ่นนำไว้ในหัวข้อที่ 6 และหวังว่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีใจรักในการถ่ายภาพที่เข้ามาอ่านบทความนี้บ้าง และหากมีข้อมูลผิดพลาดประการใดก็พิมพ์เสนอแนะได้นะัคะ โมพร้อมจะแก้ไขในส่วนบกพร่องนั้น 

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทุกบทความดีๆ ที่โมเคยได้ศึกษามา ทั้งจากอินเตอร์เน็ต หนังสือ และช่างภาพฝีมือดีบางท่าน และรวมถึงเว็บไซต์ต่างๆ ที่โมได้หยิบยืมภาพเพื่อนำมาใช้ประกอบบทความนี้ 
ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงค่ะ  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น